วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

50 ปี ขุมขน ของข้าพเจ้า

วิถีชีวิตและภูมิปัญญา
คนเฒ่าคนแก่หลายคนได้เล่าคล้ายๆ กันว่า เดิมคนในชุมชนของข้าพเจ้าเมื่อก่อนไม่ลำบาก อยู่กินสุขสบาย ไม่ต้องอพยพครอบครัวไปไหน ตื่นแต่ตี 6 จูงควายไปนา ไปไถนาแต่เช้า ฝนตกดีในหน้าทำนา จับปลา ปู กบ ในนา มาทำอาหาร ผักก็หาได้ในทุ่งนา ไม่ต้องระวังเรื่องสารพิษ หากินง่าย สายๆ ก็ให้วัวควายไปพักผูกไว้ใต้ต้นไม้ ส่วนคนก็ไปกินข้าว นั่งพักผ่อนบนกระท่อม ลมเย็นสบาย เที่ยงก็นอนพักสักหน่อย บ่ายๆ ก็ไปถอนหญ้าในนา หรือทำงานอยู่ใต้ร่มไม้ พอบ่ายแก่ๆ เตรียมวัว ควาย เก็บของกลับบ้าน บางครอบครัวก็มีอาชีพเสริมนอกจากทำนาทำไร่ยังประกอบอาชีพสานบุ้งกี้ ก่อนฤดูการทำนา ตื่นเช้ามาหุงข้าวหากับข้าวเตรียมห้อข้าวไปในป่าเพื่อไว้กินตอนเที่ยง ตอนเช้าเข้าป่าตัดหวายมาทำบุ้งกี้ ตกตอนเย็นก็ได้หวายมัดใหญ่กลับบ้าน ตอนหัวค่ำก็ไปวางเบ็ดตกปลาเพื่อมากินในวันรุ่งขึ้นข้าวไม่ต้องชื้อ กุ้งหอยปูปลาหาได้จากในนาและตามลำคลอง จากคำพูดบอกเล่าจากปูย่าตายายทำให้หวนนึกถึงวิถีชีวิต ของคนชุมชนเมื่อประมาณปี พ.ศ.2520-2529 จำได้ว่าพอเดือนเก้าเดือนสิบ จะนัดญาติพี่น้องมาทำขนมฟองขนมลา ขนมบ้า มีการเตรียมงานไว้เพื่อจะได้ไว้ทำบุญเดือนสิบ พอเดือนสามเดือนสี่ก็เล่นว่าวในท้องนา ลมพัดเย็นสบาย ฤดูข้าวนาออก
รวง ปู่ย่าตายายก็ตำข้าวหม้าวแจกลูกหลาน คืนเดือนข้างขึ้นดวงจันทร์เต็มดวงพวกเราเด็กๆก็จะเล่นช้อนหา เล่นเวียนโคม ( เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนแต่ละท้องถิ่น) เนื้อหาว่า เวียนโคมมาโยมยานัดชัดหน้าแข้งเดือนแจ้งๆมาเล่นเวียนโคม เสียงร้องของพวกเราดังก้องวิ่งไล่จับกันอย่างสนุกสนาน ตามกลางความสลัวของแสงจันทร์ ปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นขาดหายไปจากชุมชนหมดแล้ว ทุกคนลืมวิถีเก่าๆใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ วิถีอาชีพก็เปลี่ยนไป จำได้ว่ายางพาราราคาดีมากในตอนนั้น จึงทำให้คนในชุมชนเปลี่ยนจากทำนาปลูกข้าว มาทำสวนยางพารากันหมด จากเคยมีข้าวกินอย่างอุดุมสมบูรณ์ปัจจุบันนี้จะต้องซื้อข้าวสารข้างนอก มาเพื่อเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงคนในชุมชน
หลังจากวิถีเดิมหายไปการใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ก็เข้ามาแทนที่ ชุมชนข้าพเจ้าเริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อปี พ.ศ 2529 หลังจากนั้นความเจริญทางด้านวัตถุก็เข้ามามีบทบาทต่อคนในชุมชน จากไม่เคยมีหนี้สินก็กลับเป็นหนี้เพราะแข่งขันกันมี เปิดรับสื่อต่างๆโดยขาดการวิเคราะห์ รับเอาวัฒนธรรมฝรั่งด้วยการเสพจากสื่อ เดินเข้าสู่วังวนของสิ่งมอมเมา สิ่งยั่วยุ หลงเดินตามวัฒนธรรมฝรั่งโดยไม่รู้ตัว หันมากินกาแฟตอนเช้าแทนกินข้าว อาหารขยะก็เริ่มมีขาย ในชุมชนจากเมื่อก่อนทำเพื่อแลกข้าวกินมาปัจจุบันทำเพื่อขาย ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ที่เคยอยู่เป็นกลุ่มหมดไป มาเป็นความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่มีความกลมกลืน มาเป็นการแบ่งแยกและทำลาย และสร้างสภาพแวดล้อมเทียมๆ ขึ้นมาแทน ส่วนความสัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติก็เน้นแต่ไสยศาสตร์ และความเชื่อที่ขาด จริยธรรมและศีลธรรม
นับ เป็นเวลาร่วม 20-30 ปี ที่คนรุ่นใหม่ คือรุ่นพ่อกับรุ่นลูกในปัจจุบันนี้ แทบไม่เคยเห็นวิถีชีวิตที่มีความสุขอันเกิดจากเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นลักษณะสำคัญของกลุ่มชนในสังคมชาวนา คงจะมีแต่คนรุ่นปู่ย่าตายายเท่านั้นที่เคยได้เห็นและสัมผัส จนเกิดอาการโหยหาอดีตที่เคยมีความสุข และเฝ้าพร่ำบ่นกับบรรดาลูกหลานที่อยู่ในชุมชน ที่เน้นแต่การทำงานเพื่อเงินจนไม่มีเวลาพักผ่อน ตลอดจนพอใจแต่เฉพาะในสิ่งที่เป็นวัตถุและการบริโภคนิยมเพื่อตัวเองเป็น สำคัญ วิถีชีวิตของ คนในชุมชนแต่อดีต เป็นชีวิตเรียบง่ายมีโลกทัศน์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพ มีการอยู่ร่วมกันในลักษณะที่เสมอภาค พึ่งพิง และแบ่งปันซึ่งกันและกัน

เศรษฐกิจ
ด้านเศรษฐกิจของคนในชุมชนข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ก่อนพ.ศ.2529 เศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจเกษตรแบบผสมผสาน แบบเกษตรเชิงเดียวดังปัจจุบันไม่มีเลย และทรัพย์แผ่นดินของหมู่บ้านยังคงความอุดมสมบูรณ์ เรื่องเงินเรื่องรายได้ไม่มีบทบาทอะไรกับคนในชุมชนตอนนั้นทุกคนทำงานเพื่อแลกข้าวแลกปลาไม่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เมื่อก่อนนั้น จำได้ว่าในลำคลองมีปลากด ปลากราย ปลาช่อน ตัวโต ๆ ชุกชุม ภาพที่เราเห็นและจำได้ติดตา ช่วงหน้าหนาว เดือนธันวา - มกรา เรามักจะเห็นกุ้งก้ามกรามตัวโต ๆ ว่ายน้ำ ชูหนวดของมันไปมา ชวนให้ชมยิ่งนัก
สมัยนั้น ไม่มีปั้มน้ำ น้ำประปาไม่ต้องพูดถึง ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันตักน้ำใส่ตุ่มเอาไว้ใช้บนบ้าน ไฟฟ้าก็ไม่มี ใช้ตะเกียงกระป่อง หรือตะเกียงเจ้าพายุ ตกค่ำคืนเดือนมืด เราจะนอนหงายดูดาวและฟังนิทานมหาสนุกจากปู่ย่าตายาย หรือไม่เรื่องผีพอเห็นหิ่งห้อยก็กลัวกันลนลานเพราะพวกปู่ย่าตายายมักหลอกพวกเราว่า หิ่งห้อยคือผีกะสือ จะมากินตับไตไส้พุงถ้าเราไม่เป็นเด็กดี หากพวกเราเล่นเงาตัวเองที่เกิดจากแสงสว่างของตะเกียงผีก็จะจับเราไปโยนทะเลเป็นคำสอนของปู่ย่าตายายที่ไม่ยากให้ลูกหลายเกิดอันตรายเพราะหลงสนุกกับเงามืด
หลังจากปี พ.ศ 2520 เศรษฐกิจในชุมชนก็เปลี่ยนไปคนในชุมชนกำลังเปิดรับโลกภายนอก โดยรวมเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมากช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยพลิกผันจากสังคมเกษตรผสมผสานกลายเป็นเกษตรเชิงเดียว และเร็วๆนี้ก็เกิดเศรษฐกิจวิกฤต เป็นเศรษฐกิจทันสมัยแบบทุนนิยมและแล้วการเปิดรับโลกภายนอกก็ทำให้ได้อย่างเสียอย่างแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นก็นำผลบวกมาสู่ชุมชนข้าพเจ้าหลายประการ เช่นการลดลงของอัตราการขาดสารอาหารของเด็ก การสาธารณูปโภคที่ดีและแพร่กระจายมากขึ้น ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข น้ำประปา ไฟฟ้า แต่มีได้ก็ย่อมมีเสีย เราเสียป่าไม้เป็นจำนวนมาก สูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรมเดิมๆ เราใช้น้ำอย่างสูญเปล่าเป็นจำนวนมาก และทำให้แม่น้ำคูคลองหลายแห่งกลายเป็นบ้านที่พักอาศัย เป็นถนนหนทาง แม้แต่อากาศก็ไม่สดใสเหมือนก่อน น้ำในคลองเริ่มตื้นเขินน้ำแห้งหืดหายไปหมดกุ้งหอยปูปลาที่เคยมีตามธรรมชาติก็ขาดหายไปจากลำคลองเราแทบจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอุดมสมบูรณ์หมดไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบคือคนในชุมชนจำนวนมากขาดความรู้ทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน หรือเรียกว่าทรัพย์เศรษฐกิจ ทรัพย์เศรษฐกิจที่สำคัญก็คือการศึกษา คนในชุมชนขาดการศึกษาขาดการเรียนรู้ ยิ่งเศรษฐกิจชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ทรัพย์เศรษฐกิจด้านการศึกษายิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ถ้าไม่มีการศึกษาก็ขาดหนทางจะต่อสู้กับแรงของทุนนิยม

การเมืองการปกครอง
ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ชุมชนของข้าพเจ้าก็มีผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองเช่นเดียวกับวันนี้ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับระบบคอมมิวนิสต์ที่ขยายตัวลุกลามไปทั่วทุกหย่อมหญ้า สาเหตุก็เนื่องมาจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทยในปี 2519 ที่มองปัญหาการชุมนุมเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาอย่างคับแคบและเลือกวิธีแก้ไขด้วยการปราบปรามอย่างไม่จำแนกแยกแยะจึงทำให้คนกลุ่มนี้สิ้นไร้หนทาง และต้อ
เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว โดยไม่มีทางเลือก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก็คือพวกมารสังคมอาศัยคราบของนักต่อสู่ของคอมมิวนิสต์เข้ามาแอบแฝงในพรรคเพื่อขมขู่ ขูดรีดชาวบ้านที่ไม่มีหนทางสู้ จนทำให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นโจรในสายตาชาวบ้าน ทั้งที่ความจริงคอมมิวนิสต์ ( พันธุ์แท้ ) เป็นนักต่อสู้ที่มีอุดมการณ์
จนมาถึงปัจจุบันชุมชนข้าพเจ้าพัฒนาตามระบบทุนนิยม ตามแนวทางตะวันตกอย่างเต็มที่ โดยลืมที่จะปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะและเอกลักษณ์ของชุมชน ผลที่ตามมาก็คือ ผลดีก็คือคนที่มีความรู้ความเข้าใจและมีสติปัญญาที่เปิดรับต่อวิถีชีวิตแบบตะวันตก ก็มีปัญญาสามารถปรับใช้ระบบทุนนิยมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพตัวเอง จนช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่อย่างรุดหน้าไปไกล ในขณะที่คนขาดความรู้ด้อยการศึกษากลับตกเป็นเหยื่อของการพัฒนากับระบบของทุนนิยมจนได้รับผลเสียมากมายไม่ว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียง ที่น่าเศร้าก็คือ การพัฒนาตามระบบทุนนิยม พี่น้องในชุมชนบางส่วนในปัจจุบันก็ยังคงหลงเดินตามระบบทุน โดยยอมรับและเดินตามระบบการเมืองทุนนิยม
วิกฤตการเมืองปี 2553 ที่ทำให้คนในชุมชนบางส่วนรู้สึกสิ้นหวังและหวั่นใจว่าจะมีความรุนแรงและวิกฤตทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความหายนะ ย่อมเนื่องจากการวิเคราะห์โดยใช้กรอบคิดแบบการเมืองเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างจึงดูตีบตันและไร้ทางออก แต่หากมองให้กว้างไกลออกไปจาก “วิธีคิด” ที่ใครบางคนตีกรอบให้เชื่อกัน ก็อาจสามารถแลเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ สังคมชุมชนข้าพเจ้าในอดีตที่ผ่านมาโดยภาพรวมมีความสุข สงบร่มเย็น อยู่แบบพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเพียงแค่ระยะเวลาย้อนกลับไปเพียง 40-50 ปี ที่สังคมไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 (ในยุคจอมพลสฤษฏ์ ธนรัตน์) ภายใต้การชี้นำของธนาคารโลกและ ไอเอ็มเอฟ ผลที่ตามมาก็เป็นดังที่เป็น
ณ.ปัจจุบัน คนบางส่วนต่างตกอยู่ในกองกิเลส ไร้ซึ่งศีลธรรมและจริยธรรมอันดีงาม มีแต่เพียงความอยากได้อยากมี อยากเป็น ดูผิวเผินแล้วอาจจะดูเสมือนว่าเกิดความเจริญในด้านวัตถุ แต่แท้จริงแล้วจิตใจของคนในชุมชนดูต่ำลง สภาวะการเปลี่ยนนี้มีเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้และรู้เท่าเหตุการณ์บ้านเมืองเท่านั้นที่สามารถต่อสู้กับแรกผลักดันอันเสื่อมถ้อยนี้ได้ แต่ในขณะที่สังคมเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน ความกลัว ความอดทน ความเหนี่ยวรั้ง หรือ ผลักดันจะเรียกว่ามันเสื่อมหรือมันพัฒนา ทุกอย่างมันก็ล้วนเป็น อนิจจังคงไว้แต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้

ทรัพยากรและภูมิปัญญา
คนในชุมชนของข้าพเจ้าในอดีตได้อาศัยพึ่งพาพรรณไม้ในการดำรงชีวิตทั้งในด้านของปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมสร้างความสุข ทั้งกายและใจ ความรู้ ความสามารถ และผลิตผลต่างๆที่มีการคิดค้นปรับปรุงแก้ไขและเลือกสรร ได้ถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบันเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนปัจจุบันต่างจากเมื่อก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี ฯลฯ เข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตจนทำให้คนในชุมชนหลงลืมคุณค่าของธรรมชาติ หลงลืมภูมิปัญญาเดิมๆหลงลืมและต้นไม้ใบหญ้าที่มีค่ากับการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงขาดแคลนผู้สนใจที่จะศึกษาถึงการสืบสานวิถีชีวิต แบบไทย ๆ วิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่า และพรรณไม้นานาชนิดตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หน่อยงานองค์กรต่างๆและ กลุ่มแกนนำ มีการฟื้นฟูรณรงค์แต่ก็ยังคงทำได้กับคนกลุ่มน้อย และก็คงต้องเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป
อดีตเมื่อก่อนชุมชนของข้าพเจ้ายังความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คนในชุมชนอยู่กันแบบสบายไม่มีหนี้สินอยู่อย่างมีเกียรติภูมิ ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย โดยเฉพาะทรัพยากรทางชีวภาพ จนมีผลกระทบต่อชีวิตของคนในชุมชนบางส่วนโดยเฉพาะเยาวชนในชุมชนไม่ได้ตระหนักถึงความสูญเสียสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นไทยเท่าที่ควร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปลุกจิตสำนึกให้ ผู้ที่จะทำงานระดับบริหารองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินไทย เพื่อลูกหลานและความมั่นคงของชาติต่อไป

12 คำ จากร้อยคำ ที่ควรรู้

1. กระบวนการ (Process)

กระบวนการ หมายถึง ชุดกิจกรรม การดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ หรือหน้าที่ที่ต่อเนื่อง อันก่อให้เกิดผลลัพธ์ เช่น กระบวนการในการทำบัตรประชาชน กระบวนการผลิตรถยนต์ กระบวนการสร้างจิตสำนึก หรือหมายถึงขั้นตอนที่ต่อเนื่องระยะเวลาการดำเนินการเช่น กระบวนการพิจารณารางวัลยังไม่เสร็จสิ้น กระบวนการทางกฎหมายยังอีกหลายขั้นตอน ( ไม่ควรสับสนระหว่าง คำว่ากระบวนการ กับขบวนการ )
2 กระบวนทัศน์ (Paradigm)

กระบวนทัศน์ หมายถึง วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง บางคนแปลว่า ทัศนะ แม่บท เพราะเป็นทัศนะพื้นฐานที่เป็นตัวกำหนดวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า และวิถีชีวิตทั้งหมดของผู้คน
ตัวอย่างการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนปัจจุบัน มาจากกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกัน การแพทย์แผนไทยมองโลก มองชีวิต อย่างเป็นองค์รวมแบบหนึ่ง เป็นเรื่องของธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อธิบายความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเรื่องของการขาดความสมดุล ขณะที่การแพทย์แผนปัจจุบัน มาจากฐานคิดเรื่องโรค จากทฤษฎีว่าด้วยเชื้อโรค ว่าด้วยเนื้อเยื่อ และมองชีวิตเป็นกลไก แยกส่วน ด้วยกระบวนทัศน์ แตกต่างกันเช่นนี้ การดูแลรักษาโรคจึงแตกต่างกัน



3. การพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development)

การพัฒนายั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบันโดยไม่ทำให้ผู้คนในอนาคตเกิดปัญหาในการตอบสนองความต้องการของตนเอง (นิยามของคณะกรรมการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา)

4 การมีส่วนร่วมของประชาชน (People's Participation)

การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นคำที่เริ่มใช้กันเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่นำไปให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆนั้น ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม บ้างก็บอกว่ามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยชุมชนมีส่วนสมทบงบประมาณ 5-10% ถ้าไม่มีเป็นเงินก็คิดจากมูลค่าแรงงาน วัสดุสิ่งของ วัตถุดิบ หรืออะไรก็ได้ที่มาจากชุมชน
งบประมาณเกือบทั้งหมด รวมทั้งการคิดและวางแผน "มาจากข้างบน" คือมาจากหน่วยงานภายนอก ทั้งหน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชน
บ้างก็บอกว่ามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน คือการเก็บข้อมูล การวางแผน การปฏิบัติ และประเมินผล และอ้างว่านี้คือกระบวนการที่ "มาจากข้างล่าง" รวมทั้งอ้างว่าได้มีการทำประชาพิจารณ์ แล้ว ซึ่งหมายความว่าได้รับการ "รับรอง" จากชุมชน


5. เกษตรผสมผสาน (Integrated Agriculture)

เกษตรผสมผสานเป็นชื่อกลางเพื่อพูดถึงการทำการเกษตรที่ปลูกหลายอย่าง เลี้ยงหลายอย่าง ทำกิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่างผสมผสานกัน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน เช่น การปลูกพืช ไม้ใหญ่ไม้เล็ก ไม้ผล ไม้ใช้สอย ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัวควาย รวมทั้งการนำผลผลิตมาแปรรูป ทั้งนี้เพื่อทำไว้กินไว้ใช้ ที่เหลือก็เอาไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อสิ่งที่ผลิตเองไม่ได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ความจริงเกษตรผสมผสานมีมานานแล้ว เช่น สวนสมรมในภาคใต้ ซึ่งปลูกไม้ผล พืชผักเอาไว้กิน มีหลายๆอย่างตามที่ครอบครัวต้องการ หลายอย่างเกิดเองตามธรรมชาติ และปล่อยไว้โดยไม่มีการจัดการอะไรเป็นพิเศษ บางแห่งปลูกแซมไว้ในป่า เป็นสวนในป่าธรรมชาติ


6. เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture)

การเกษตรผสมผสานรูปแบบต่างๆ ข้างต้นมักเรียกด้วยว่าเป็นการเกษตรยั่งยืน เพราะเป็นการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายดิน น้ำ ป่า อากาศ ชีวิตสัตว์และผู้คน ไม่ทำลายทรัพยากร แต่รักษาความสมดุลของธรรมชาติให้คงอยู่สำหรับลูกหลานในอนาคตด้วย
เกษตรยั่งยืนเป็นรูปแบบหนึ่งขององค์กรทางสังคมและเศรษฐกิจที่อยู่บนรากฐานของการมองการพัฒนาที่ยอมรับว่าสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานของเศรษฐกิจการเกษตรจะยั่งยืนถ้าหากไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ มีความเป็นธรรมทางสังคม เหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ที่เป็นองค์รวมและ บูรณาการ
เกษตรยั่งยืนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความบริสุทธิ์ของน้ำ นำทรัพยากรมาใช้ใหม่หรือหมุนเวียน อนุรักษ์พลังงาน

7. นวัตกรรม (innovation)

นวัตกรรมเป็นกระบวนการนำความคิดใหม่ ปัจจัยสินค้าใหม่ การบริการใหม่ การปฏิบัติใหม่ เข้าสู่ปฏิบัติการของหน่วยงานองค์กร บริษัท สถาบัน เพื่อให้เกิดหรืเปลี่ยนแปลงที่ให้คุณแก่ผู้เกี่ยวข้องในสังคมวงกว้าง ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรใหม่เอี่ยมทั้งหมด แต่อาจเป็นเพียงบางส่วน ซึ่งต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา หรือเกิดการท้าทายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
คำว่านวัตกรรมยุคนี้มีแนวโน้มไปสู่ความหมายของการเปลี่ยนแปลงในทางบวกมากขึ้น เป็นเรื่องการค้นหาเทคโนโลยีใหม่ วิธีการใหม่ เช่น นวัตกรรมทางการศึกษา การเรียนรู้ การพัฒนายั่งยืน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน ที่ไม่มุ่งแต่เพียงการเติบโตทางตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นคุณภาพชีวิต

8. บูรณาการ (Integration)
ตามรากศัพท์ คำว่า บูรณะ แปลว่าทำให้เต็ม ทำให้สมบูรณ์ การทำให้สิ่งที่ขาดอยู่สมบูรณ์ การนำหน่วยย่อยต่างๆ ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันผสานกันเข้าอย่างกลมกลืน สมดุล ลงตัว สามารถดำรงอยู่และดำเนินไปได้ในภาวะที่เป็นองค์รวมหนึ่งเดียวที่ครบถ้วนสมบูรณ์
บูรณาการหรือกระบวนการทำให้สมบูรณ์มักเกี่ยวกับการพัฒนา การศึกษา เพื่อตอบสนองชีวิต ตอบสนองชุมชน และสังคมซึ่งเป็นองค์รวมที่แบ่งแยกมิได้ การเอาชีวิต เอาคนเอาชุมชนและความเป็นจริงเป็นเป้าหมายหรือเป็นตัวตั้งจึงต้องหาวิธีการที่ตอบสนองแบบบูรณาการจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริงนั้น

9. บริบท (Context)

บริบท หมายถึง สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆ ที่รายล้อมเหตุการณ์หนึ่ง เรื่องหนึ่ง ประเด็นหนึ่ง เช่น การศึกษาวรรณกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ควรศึกษาประวัติศาสตร์ บริบททางสังคมวัฒนธรรมของไทยในยุคนั้นเพื่อจะได้เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในยุคนั้นซึ่งสัมพันธ์กับวรรณกรรมนั้น หรือการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจหรือประเด็นอะไรก็ได้ในยุคสมัยหนึ่งก็ควรต้องเข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับเศรษฐกิจและประเด็นนั้นๆ

10. ประชาพิจัย (PR&D)

ประชาพิจัยหรือประชาพิจัยและพัฒนา เป็นคำที่คิดขึ้นมาใหม่โดยมูลนิธิหมู่บ้านเพื่อเรียกกระบวนการ วิธีการ หรือเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ วิจัยตนเอง สืบค้นข้อมูลภายในชุมชนและที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ แล้วทำแผนพัฒนาชุมชน ซึ่งถ้าหากเป็นแผนใหญ่ที่ให้กรอบการพัฒนาอย่างรอบด้านก็เรียกว่า แผนแม่บทชุมชน
การทำประชาพิจัยจึงเป็นการวิจัยตนเองของประชาชน โดยประชาชนเพื่อประชาชน เพราะหัวใจของประชาพิจัย คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ชุมชนค้นพบ "ทุน" อันหลากหลาย อันเป็นศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง รวมทั้งพบแนวทางในการพัฒนาทุน ดังกล่าวไปสู่การพึ่งตนเอง ทำให้ชุมชนหลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพารอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก

11. พลวัต (Dynamic)

พลวัต หมายถึง พลังที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นพลังที่มี กฏเกณฑ์ที่เกี่ยวโยงกันหลายด้าน พลวัตเป็นคำที่ใช้กันบ่อยเพื่อบอกถึงพลังทางการเมือง ทางสังคม ทางจิตวิทยา เช่น พลวัตทั้งหมดเบื้องหลังการปฏิวัติ
พลวัตเป็นระบบหรือกระบวนการแบบปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงถึงพลังการแข่งขัน ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปรัชญาแนวพลวัตนิยม ซึ่งเป็นคำสอนหรือระบบปรัชญาที่พยายามใช้เรื่องพลังภายใน หรือพลังฝังใน หรือพลังแฝงเร้น อธิบายปรากฏการณ์ของเอกภพความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ

12. ศักยภาพ ( potential )

ศักยภาพ หมายถึง ความสามารถที่ยังไม่พัฒนา หรือยังไม่พัฒนาเต็มที่ ศักยภาพเป็นพลังภายใน พลังที่ซ่อนไว้หรือพลังแฝงที่ยังไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏ หรือออกมาบ้างแต่ยังไม่หมด เช่น เมล็ดมะม่วงมีศักยภาพที่จะโตเป็นต้นมะม่วงถ้าหากได้ดินดี น้ำดี แดดดี ปุ๋ยดี เด็กจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเก่งถ้าหากได้รับการเลี้ยงดูที่ดี การศึกษาที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี
ทางปรัชญา ศักยภาพ ตรงกันข้ามกับคำว่า กรรตุภาพ หรือภาวะที่เป็นจริง หรือเรียกกันด้วยภาษาง่ายๆว่า ภาวะแฝง กับภาวะจริง ศักยภาพ เป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ตรงข้ามกับภาวะจริง ซึ่งในปรัชญาตะวันตกตั้งแต่อริสโตเติล พูดถึงความสมบูรณ์ ว่าเป็นภาวะความจริงที่บริสุทธิ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้