วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

12 คำ จากร้อยคำ ที่ควรรู้

1. กระบวนการ (Process)

กระบวนการ หมายถึง ชุดกิจกรรม การดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ หรือหน้าที่ที่ต่อเนื่อง อันก่อให้เกิดผลลัพธ์ เช่น กระบวนการในการทำบัตรประชาชน กระบวนการผลิตรถยนต์ กระบวนการสร้างจิตสำนึก หรือหมายถึงขั้นตอนที่ต่อเนื่องระยะเวลาการดำเนินการเช่น กระบวนการพิจารณารางวัลยังไม่เสร็จสิ้น กระบวนการทางกฎหมายยังอีกหลายขั้นตอน ( ไม่ควรสับสนระหว่าง คำว่ากระบวนการ กับขบวนการ )
2 กระบวนทัศน์ (Paradigm)

กระบวนทัศน์ หมายถึง วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง บางคนแปลว่า ทัศนะ แม่บท เพราะเป็นทัศนะพื้นฐานที่เป็นตัวกำหนดวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า และวิถีชีวิตทั้งหมดของผู้คน
ตัวอย่างการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนปัจจุบัน มาจากกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกัน การแพทย์แผนไทยมองโลก มองชีวิต อย่างเป็นองค์รวมแบบหนึ่ง เป็นเรื่องของธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อธิบายความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเรื่องของการขาดความสมดุล ขณะที่การแพทย์แผนปัจจุบัน มาจากฐานคิดเรื่องโรค จากทฤษฎีว่าด้วยเชื้อโรค ว่าด้วยเนื้อเยื่อ และมองชีวิตเป็นกลไก แยกส่วน ด้วยกระบวนทัศน์ แตกต่างกันเช่นนี้ การดูแลรักษาโรคจึงแตกต่างกัน



3. การพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development)

การพัฒนายั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบันโดยไม่ทำให้ผู้คนในอนาคตเกิดปัญหาในการตอบสนองความต้องการของตนเอง (นิยามของคณะกรรมการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา)

4 การมีส่วนร่วมของประชาชน (People's Participation)

การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นคำที่เริ่มใช้กันเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่นำไปให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆนั้น ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม บ้างก็บอกว่ามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยชุมชนมีส่วนสมทบงบประมาณ 5-10% ถ้าไม่มีเป็นเงินก็คิดจากมูลค่าแรงงาน วัสดุสิ่งของ วัตถุดิบ หรืออะไรก็ได้ที่มาจากชุมชน
งบประมาณเกือบทั้งหมด รวมทั้งการคิดและวางแผน "มาจากข้างบน" คือมาจากหน่วยงานภายนอก ทั้งหน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชน
บ้างก็บอกว่ามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน คือการเก็บข้อมูล การวางแผน การปฏิบัติ และประเมินผล และอ้างว่านี้คือกระบวนการที่ "มาจากข้างล่าง" รวมทั้งอ้างว่าได้มีการทำประชาพิจารณ์ แล้ว ซึ่งหมายความว่าได้รับการ "รับรอง" จากชุมชน


5. เกษตรผสมผสาน (Integrated Agriculture)

เกษตรผสมผสานเป็นชื่อกลางเพื่อพูดถึงการทำการเกษตรที่ปลูกหลายอย่าง เลี้ยงหลายอย่าง ทำกิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่างผสมผสานกัน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน เช่น การปลูกพืช ไม้ใหญ่ไม้เล็ก ไม้ผล ไม้ใช้สอย ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัวควาย รวมทั้งการนำผลผลิตมาแปรรูป ทั้งนี้เพื่อทำไว้กินไว้ใช้ ที่เหลือก็เอาไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อสิ่งที่ผลิตเองไม่ได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ความจริงเกษตรผสมผสานมีมานานแล้ว เช่น สวนสมรมในภาคใต้ ซึ่งปลูกไม้ผล พืชผักเอาไว้กิน มีหลายๆอย่างตามที่ครอบครัวต้องการ หลายอย่างเกิดเองตามธรรมชาติ และปล่อยไว้โดยไม่มีการจัดการอะไรเป็นพิเศษ บางแห่งปลูกแซมไว้ในป่า เป็นสวนในป่าธรรมชาติ


6. เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture)

การเกษตรผสมผสานรูปแบบต่างๆ ข้างต้นมักเรียกด้วยว่าเป็นการเกษตรยั่งยืน เพราะเป็นการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายดิน น้ำ ป่า อากาศ ชีวิตสัตว์และผู้คน ไม่ทำลายทรัพยากร แต่รักษาความสมดุลของธรรมชาติให้คงอยู่สำหรับลูกหลานในอนาคตด้วย
เกษตรยั่งยืนเป็นรูปแบบหนึ่งขององค์กรทางสังคมและเศรษฐกิจที่อยู่บนรากฐานของการมองการพัฒนาที่ยอมรับว่าสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานของเศรษฐกิจการเกษตรจะยั่งยืนถ้าหากไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ มีความเป็นธรรมทางสังคม เหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ที่เป็นองค์รวมและ บูรณาการ
เกษตรยั่งยืนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความบริสุทธิ์ของน้ำ นำทรัพยากรมาใช้ใหม่หรือหมุนเวียน อนุรักษ์พลังงาน

7. นวัตกรรม (innovation)

นวัตกรรมเป็นกระบวนการนำความคิดใหม่ ปัจจัยสินค้าใหม่ การบริการใหม่ การปฏิบัติใหม่ เข้าสู่ปฏิบัติการของหน่วยงานองค์กร บริษัท สถาบัน เพื่อให้เกิดหรืเปลี่ยนแปลงที่ให้คุณแก่ผู้เกี่ยวข้องในสังคมวงกว้าง ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรใหม่เอี่ยมทั้งหมด แต่อาจเป็นเพียงบางส่วน ซึ่งต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา หรือเกิดการท้าทายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
คำว่านวัตกรรมยุคนี้มีแนวโน้มไปสู่ความหมายของการเปลี่ยนแปลงในทางบวกมากขึ้น เป็นเรื่องการค้นหาเทคโนโลยีใหม่ วิธีการใหม่ เช่น นวัตกรรมทางการศึกษา การเรียนรู้ การพัฒนายั่งยืน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน ที่ไม่มุ่งแต่เพียงการเติบโตทางตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นคุณภาพชีวิต

8. บูรณาการ (Integration)
ตามรากศัพท์ คำว่า บูรณะ แปลว่าทำให้เต็ม ทำให้สมบูรณ์ การทำให้สิ่งที่ขาดอยู่สมบูรณ์ การนำหน่วยย่อยต่างๆ ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันผสานกันเข้าอย่างกลมกลืน สมดุล ลงตัว สามารถดำรงอยู่และดำเนินไปได้ในภาวะที่เป็นองค์รวมหนึ่งเดียวที่ครบถ้วนสมบูรณ์
บูรณาการหรือกระบวนการทำให้สมบูรณ์มักเกี่ยวกับการพัฒนา การศึกษา เพื่อตอบสนองชีวิต ตอบสนองชุมชน และสังคมซึ่งเป็นองค์รวมที่แบ่งแยกมิได้ การเอาชีวิต เอาคนเอาชุมชนและความเป็นจริงเป็นเป้าหมายหรือเป็นตัวตั้งจึงต้องหาวิธีการที่ตอบสนองแบบบูรณาการจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริงนั้น

9. บริบท (Context)

บริบท หมายถึง สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆ ที่รายล้อมเหตุการณ์หนึ่ง เรื่องหนึ่ง ประเด็นหนึ่ง เช่น การศึกษาวรรณกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ควรศึกษาประวัติศาสตร์ บริบททางสังคมวัฒนธรรมของไทยในยุคนั้นเพื่อจะได้เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในยุคนั้นซึ่งสัมพันธ์กับวรรณกรรมนั้น หรือการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจหรือประเด็นอะไรก็ได้ในยุคสมัยหนึ่งก็ควรต้องเข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับเศรษฐกิจและประเด็นนั้นๆ

10. ประชาพิจัย (PR&D)

ประชาพิจัยหรือประชาพิจัยและพัฒนา เป็นคำที่คิดขึ้นมาใหม่โดยมูลนิธิหมู่บ้านเพื่อเรียกกระบวนการ วิธีการ หรือเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ วิจัยตนเอง สืบค้นข้อมูลภายในชุมชนและที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ แล้วทำแผนพัฒนาชุมชน ซึ่งถ้าหากเป็นแผนใหญ่ที่ให้กรอบการพัฒนาอย่างรอบด้านก็เรียกว่า แผนแม่บทชุมชน
การทำประชาพิจัยจึงเป็นการวิจัยตนเองของประชาชน โดยประชาชนเพื่อประชาชน เพราะหัวใจของประชาพิจัย คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ชุมชนค้นพบ "ทุน" อันหลากหลาย อันเป็นศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง รวมทั้งพบแนวทางในการพัฒนาทุน ดังกล่าวไปสู่การพึ่งตนเอง ทำให้ชุมชนหลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพารอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก

11. พลวัต (Dynamic)

พลวัต หมายถึง พลังที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นพลังที่มี กฏเกณฑ์ที่เกี่ยวโยงกันหลายด้าน พลวัตเป็นคำที่ใช้กันบ่อยเพื่อบอกถึงพลังทางการเมือง ทางสังคม ทางจิตวิทยา เช่น พลวัตทั้งหมดเบื้องหลังการปฏิวัติ
พลวัตเป็นระบบหรือกระบวนการแบบปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงถึงพลังการแข่งขัน ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปรัชญาแนวพลวัตนิยม ซึ่งเป็นคำสอนหรือระบบปรัชญาที่พยายามใช้เรื่องพลังภายใน หรือพลังฝังใน หรือพลังแฝงเร้น อธิบายปรากฏการณ์ของเอกภพความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ

12. ศักยภาพ ( potential )

ศักยภาพ หมายถึง ความสามารถที่ยังไม่พัฒนา หรือยังไม่พัฒนาเต็มที่ ศักยภาพเป็นพลังภายใน พลังที่ซ่อนไว้หรือพลังแฝงที่ยังไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏ หรือออกมาบ้างแต่ยังไม่หมด เช่น เมล็ดมะม่วงมีศักยภาพที่จะโตเป็นต้นมะม่วงถ้าหากได้ดินดี น้ำดี แดดดี ปุ๋ยดี เด็กจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเก่งถ้าหากได้รับการเลี้ยงดูที่ดี การศึกษาที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี
ทางปรัชญา ศักยภาพ ตรงกันข้ามกับคำว่า กรรตุภาพ หรือภาวะที่เป็นจริง หรือเรียกกันด้วยภาษาง่ายๆว่า ภาวะแฝง กับภาวะจริง ศักยภาพ เป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ตรงข้ามกับภาวะจริง ซึ่งในปรัชญาตะวันตกตั้งแต่อริสโตเติล พูดถึงความสมบูรณ์ ว่าเป็นภาวะความจริงที่บริสุทธิ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น