วิถีชีวิตและภูมิปัญญา
คนเฒ่าคนแก่หลายคนได้เล่าคล้ายๆ กันว่า เดิมคนในชุมชนของข้าพเจ้าเมื่อก่อนไม่ลำบาก อยู่กินสุขสบาย ไม่ต้องอพยพครอบครัวไปไหน ตื่นแต่ตี 6 จูงควายไปนา ไปไถนาแต่เช้า ฝนตกดีในหน้าทำนา จับปลา ปู กบ ในนา มาทำอาหาร ผักก็หาได้ในทุ่งนา ไม่ต้องระวังเรื่องสารพิษ หากินง่าย สายๆ ก็ให้วัวควายไปพักผูกไว้ใต้ต้นไม้ ส่วนคนก็ไปกินข้าว นั่งพักผ่อนบนกระท่อม ลมเย็นสบาย เที่ยงก็นอนพักสักหน่อย บ่ายๆ ก็ไปถอนหญ้าในนา หรือทำงานอยู่ใต้ร่มไม้ พอบ่ายแก่ๆ เตรียมวัว ควาย เก็บของกลับบ้าน บางครอบครัวก็มีอาชีพเสริมนอกจากทำนาทำไร่ยังประกอบอาชีพสานบุ้งกี้ ก่อนฤดูการทำนา ตื่นเช้ามาหุงข้าวหากับข้าวเตรียมห้อข้าวไปในป่าเพื่อไว้กินตอนเที่ยง ตอนเช้าเข้าป่าตัดหวายมาทำบุ้งกี้ ตกตอนเย็นก็ได้หวายมัดใหญ่กลับบ้าน ตอนหัวค่ำก็ไปวางเบ็ดตกปลาเพื่อมากินในวันรุ่งขึ้นข้าวไม่ต้องชื้อ กุ้งหอยปูปลาหาได้จากในนาและตามลำคลอง จากคำพูดบอกเล่าจากปูย่าตายายทำให้หวนนึกถึงวิถีชีวิต ของคนชุมชนเมื่อประมาณปี พ.ศ.2520-2529 จำได้ว่าพอเดือนเก้าเดือนสิบ จะนัดญาติพี่น้องมาทำขนมฟองขนมลา ขนมบ้า มีการเตรียมงานไว้เพื่อจะได้ไว้ทำบุญเดือนสิบ พอเดือนสามเดือนสี่ก็เล่นว่าวในท้องนา ลมพัดเย็นสบาย ฤดูข้าวนาออก
รวง ปู่ย่าตายายก็ตำข้าวหม้าวแจกลูกหลาน คืนเดือนข้างขึ้นดวงจันทร์เต็มดวงพวกเราเด็กๆก็จะเล่นช้อนหา เล่นเวียนโคม ( เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนแต่ละท้องถิ่น) เนื้อหาว่า เวียนโคมมาโยมยานัดชัดหน้าแข้งเดือนแจ้งๆมาเล่นเวียนโคม เสียงร้องของพวกเราดังก้องวิ่งไล่จับกันอย่างสนุกสนาน ตามกลางความสลัวของแสงจันทร์ ปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นขาดหายไปจากชุมชนหมดแล้ว ทุกคนลืมวิถีเก่าๆใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ วิถีอาชีพก็เปลี่ยนไป จำได้ว่ายางพาราราคาดีมากในตอนนั้น จึงทำให้คนในชุมชนเปลี่ยนจากทำนาปลูกข้าว มาทำสวนยางพารากันหมด จากเคยมีข้าวกินอย่างอุดุมสมบูรณ์ปัจจุบันนี้จะต้องซื้อข้าวสารข้างนอก มาเพื่อเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงคนในชุมชน
หลังจากวิถีเดิมหายไปการใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ก็เข้ามาแทนที่ ชุมชนข้าพเจ้าเริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อปี พ.ศ 2529 หลังจากนั้นความเจริญทางด้านวัตถุก็เข้ามามีบทบาทต่อคนในชุมชน จากไม่เคยมีหนี้สินก็กลับเป็นหนี้เพราะแข่งขันกันมี เปิดรับสื่อต่างๆโดยขาดการวิเคราะห์ รับเอาวัฒนธรรมฝรั่งด้วยการเสพจากสื่อ เดินเข้าสู่วังวนของสิ่งมอมเมา สิ่งยั่วยุ หลงเดินตามวัฒนธรรมฝรั่งโดยไม่รู้ตัว หันมากินกาแฟตอนเช้าแทนกินข้าว อาหารขยะก็เริ่มมีขาย ในชุมชนจากเมื่อก่อนทำเพื่อแลกข้าวกินมาปัจจุบันทำเพื่อขาย ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ที่เคยอยู่เป็นกลุ่มหมดไป มาเป็นความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่มีความกลมกลืน มาเป็นการแบ่งแยกและทำลาย และสร้างสภาพแวดล้อมเทียมๆ ขึ้นมาแทน ส่วนความสัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติก็เน้นแต่ไสยศาสตร์ และความเชื่อที่ขาด จริยธรรมและศีลธรรม
นับ เป็นเวลาร่วม 20-30 ปี ที่คนรุ่นใหม่ คือรุ่นพ่อกับรุ่นลูกในปัจจุบันนี้ แทบไม่เคยเห็นวิถีชีวิตที่มีความสุขอันเกิดจากเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นลักษณะสำคัญของกลุ่มชนในสังคมชาวนา คงจะมีแต่คนรุ่นปู่ย่าตายายเท่านั้นที่เคยได้เห็นและสัมผัส จนเกิดอาการโหยหาอดีตที่เคยมีความสุข และเฝ้าพร่ำบ่นกับบรรดาลูกหลานที่อยู่ในชุมชน ที่เน้นแต่การทำงานเพื่อเงินจนไม่มีเวลาพักผ่อน ตลอดจนพอใจแต่เฉพาะในสิ่งที่เป็นวัตถุและการบริโภคนิยมเพื่อตัวเองเป็น สำคัญ วิถีชีวิตของ คนในชุมชนแต่อดีต เป็นชีวิตเรียบง่ายมีโลกทัศน์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพ มีการอยู่ร่วมกันในลักษณะที่เสมอภาค พึ่งพิง และแบ่งปันซึ่งกันและกัน
เศรษฐกิจ
ด้านเศรษฐกิจของคนในชุมชนข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ก่อนพ.ศ.2529 เศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจเกษตรแบบผสมผสาน แบบเกษตรเชิงเดียวดังปัจจุบันไม่มีเลย และทรัพย์แผ่นดินของหมู่บ้านยังคงความอุดมสมบูรณ์ เรื่องเงินเรื่องรายได้ไม่มีบทบาทอะไรกับคนในชุมชนตอนนั้นทุกคนทำงานเพื่อแลกข้าวแลกปลาไม่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เมื่อก่อนนั้น จำได้ว่าในลำคลองมีปลากด ปลากราย ปลาช่อน ตัวโต ๆ ชุกชุม ภาพที่เราเห็นและจำได้ติดตา ช่วงหน้าหนาว เดือนธันวา - มกรา เรามักจะเห็นกุ้งก้ามกรามตัวโต ๆ ว่ายน้ำ ชูหนวดของมันไปมา ชวนให้ชมยิ่งนัก
สมัยนั้น ไม่มีปั้มน้ำ น้ำประปาไม่ต้องพูดถึง ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันตักน้ำใส่ตุ่มเอาไว้ใช้บนบ้าน ไฟฟ้าก็ไม่มี ใช้ตะเกียงกระป่อง หรือตะเกียงเจ้าพายุ ตกค่ำคืนเดือนมืด เราจะนอนหงายดูดาวและฟังนิทานมหาสนุกจากปู่ย่าตายาย หรือไม่เรื่องผีพอเห็นหิ่งห้อยก็กลัวกันลนลานเพราะพวกปู่ย่าตายายมักหลอกพวกเราว่า หิ่งห้อยคือผีกะสือ จะมากินตับไตไส้พุงถ้าเราไม่เป็นเด็กดี หากพวกเราเล่นเงาตัวเองที่เกิดจากแสงสว่างของตะเกียงผีก็จะจับเราไปโยนทะเลเป็นคำสอนของปู่ย่าตายายที่ไม่ยากให้ลูกหลายเกิดอันตรายเพราะหลงสนุกกับเงามืด
หลังจากปี พ.ศ 2520 เศรษฐกิจในชุมชนก็เปลี่ยนไปคนในชุมชนกำลังเปิดรับโลกภายนอก โดยรวมเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมากช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยพลิกผันจากสังคมเกษตรผสมผสานกลายเป็นเกษตรเชิงเดียว และเร็วๆนี้ก็เกิดเศรษฐกิจวิกฤต เป็นเศรษฐกิจทันสมัยแบบทุนนิยมและแล้วการเปิดรับโลกภายนอกก็ทำให้ได้อย่างเสียอย่างแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นก็นำผลบวกมาสู่ชุมชนข้าพเจ้าหลายประการ เช่นการลดลงของอัตราการขาดสารอาหารของเด็ก การสาธารณูปโภคที่ดีและแพร่กระจายมากขึ้น ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข น้ำประปา ไฟฟ้า แต่มีได้ก็ย่อมมีเสีย เราเสียป่าไม้เป็นจำนวนมาก สูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรมเดิมๆ เราใช้น้ำอย่างสูญเปล่าเป็นจำนวนมาก และทำให้แม่น้ำคูคลองหลายแห่งกลายเป็นบ้านที่พักอาศัย เป็นถนนหนทาง แม้แต่อากาศก็ไม่สดใสเหมือนก่อน น้ำในคลองเริ่มตื้นเขินน้ำแห้งหืดหายไปหมดกุ้งหอยปูปลาที่เคยมีตามธรรมชาติก็ขาดหายไปจากลำคลองเราแทบจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอุดมสมบูรณ์หมดไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบคือคนในชุมชนจำนวนมากขาดความรู้ทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน หรือเรียกว่าทรัพย์เศรษฐกิจ ทรัพย์เศรษฐกิจที่สำคัญก็คือการศึกษา คนในชุมชนขาดการศึกษาขาดการเรียนรู้ ยิ่งเศรษฐกิจชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ทรัพย์เศรษฐกิจด้านการศึกษายิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ถ้าไม่มีการศึกษาก็ขาดหนทางจะต่อสู้กับแรงของทุนนิยม
การเมืองการปกครอง
ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ชุมชนของข้าพเจ้าก็มีผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองเช่นเดียวกับวันนี้ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับระบบคอมมิวนิสต์ที่ขยายตัวลุกลามไปทั่วทุกหย่อมหญ้า สาเหตุก็เนื่องมาจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทยในปี 2519 ที่มองปัญหาการชุมนุมเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาอย่างคับแคบและเลือกวิธีแก้ไขด้วยการปราบปรามอย่างไม่จำแนกแยกแยะจึงทำให้คนกลุ่มนี้สิ้นไร้หนทาง และต้อ
เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว โดยไม่มีทางเลือก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก็คือพวกมารสังคมอาศัยคราบของนักต่อสู่ของคอมมิวนิสต์เข้ามาแอบแฝงในพรรคเพื่อขมขู่ ขูดรีดชาวบ้านที่ไม่มีหนทางสู้ จนทำให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นโจรในสายตาชาวบ้าน ทั้งที่ความจริงคอมมิวนิสต์ ( พันธุ์แท้ ) เป็นนักต่อสู้ที่มีอุดมการณ์
จนมาถึงปัจจุบันชุมชนข้าพเจ้าพัฒนาตามระบบทุนนิยม ตามแนวทางตะวันตกอย่างเต็มที่ โดยลืมที่จะปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะและเอกลักษณ์ของชุมชน ผลที่ตามมาก็คือ ผลดีก็คือคนที่มีความรู้ความเข้าใจและมีสติปัญญาที่เปิดรับต่อวิถีชีวิตแบบตะวันตก ก็มีปัญญาสามารถปรับใช้ระบบทุนนิยมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพตัวเอง จนช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่อย่างรุดหน้าไปไกล ในขณะที่คนขาดความรู้ด้อยการศึกษากลับตกเป็นเหยื่อของการพัฒนากับระบบของทุนนิยมจนได้รับผลเสียมากมายไม่ว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียง ที่น่าเศร้าก็คือ การพัฒนาตามระบบทุนนิยม พี่น้องในชุมชนบางส่วนในปัจจุบันก็ยังคงหลงเดินตามระบบทุน โดยยอมรับและเดินตามระบบการเมืองทุนนิยม
วิกฤตการเมืองปี 2553 ที่ทำให้คนในชุมชนบางส่วนรู้สึกสิ้นหวังและหวั่นใจว่าจะมีความรุนแรงและวิกฤตทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความหายนะ ย่อมเนื่องจากการวิเคราะห์โดยใช้กรอบคิดแบบการเมืองเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างจึงดูตีบตันและไร้ทางออก แต่หากมองให้กว้างไกลออกไปจาก “วิธีคิด” ที่ใครบางคนตีกรอบให้เชื่อกัน ก็อาจสามารถแลเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ สังคมชุมชนข้าพเจ้าในอดีตที่ผ่านมาโดยภาพรวมมีความสุข สงบร่มเย็น อยู่แบบพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเพียงแค่ระยะเวลาย้อนกลับไปเพียง 40-50 ปี ที่สังคมไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 (ในยุคจอมพลสฤษฏ์ ธนรัตน์) ภายใต้การชี้นำของธนาคารโลกและ ไอเอ็มเอฟ ผลที่ตามมาก็เป็นดังที่เป็น
ณ.ปัจจุบัน คนบางส่วนต่างตกอยู่ในกองกิเลส ไร้ซึ่งศีลธรรมและจริยธรรมอันดีงาม มีแต่เพียงความอยากได้อยากมี อยากเป็น ดูผิวเผินแล้วอาจจะดูเสมือนว่าเกิดความเจริญในด้านวัตถุ แต่แท้จริงแล้วจิตใจของคนในชุมชนดูต่ำลง สภาวะการเปลี่ยนนี้มีเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้และรู้เท่าเหตุการณ์บ้านเมืองเท่านั้นที่สามารถต่อสู้กับแรกผลักดันอันเสื่อมถ้อยนี้ได้ แต่ในขณะที่สังคมเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน ความกลัว ความอดทน ความเหนี่ยวรั้ง หรือ ผลักดันจะเรียกว่ามันเสื่อมหรือมันพัฒนา ทุกอย่างมันก็ล้วนเป็น อนิจจังคงไว้แต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
ทรัพยากรและภูมิปัญญา
คนในชุมชนของข้าพเจ้าในอดีตได้อาศัยพึ่งพาพรรณไม้ในการดำรงชีวิตทั้งในด้านของปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมสร้างความสุข ทั้งกายและใจ ความรู้ ความสามารถ และผลิตผลต่างๆที่มีการคิดค้นปรับปรุงแก้ไขและเลือกสรร ได้ถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบันเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนปัจจุบันต่างจากเมื่อก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี ฯลฯ เข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตจนทำให้คนในชุมชนหลงลืมคุณค่าของธรรมชาติ หลงลืมภูมิปัญญาเดิมๆหลงลืมและต้นไม้ใบหญ้าที่มีค่ากับการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงขาดแคลนผู้สนใจที่จะศึกษาถึงการสืบสานวิถีชีวิต แบบไทย ๆ วิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่า และพรรณไม้นานาชนิดตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หน่อยงานองค์กรต่างๆและ กลุ่มแกนนำ มีการฟื้นฟูรณรงค์แต่ก็ยังคงทำได้กับคนกลุ่มน้อย และก็คงต้องเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป
อดีตเมื่อก่อนชุมชนของข้าพเจ้ายังความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คนในชุมชนอยู่กันแบบสบายไม่มีหนี้สินอยู่อย่างมีเกียรติภูมิ ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย โดยเฉพาะทรัพยากรทางชีวภาพ จนมีผลกระทบต่อชีวิตของคนในชุมชนบางส่วนโดยเฉพาะเยาวชนในชุมชนไม่ได้ตระหนักถึงความสูญเสียสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นไทยเท่าที่ควร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปลุกจิตสำนึกให้ ผู้ที่จะทำงานระดับบริหารองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินไทย เพื่อลูกหลานและความมั่นคงของชาติต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น